Tech Potential
การประเมินระดับเทคโนโลยีและประเมินความสามารถของเทคโนโลยีในการสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์หรือสังคม
เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการกำหนดแนวทางการวิเคราะห์ศักยภาพของเทคโนโลยีในการสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์หรือเชิงสังคมสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี เพื่อใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานการพิจารณาระดับเทคโนโลยีในกระบวนการดำเนินงานและติดตามประเมินผลการดำเนินงานตลอดจนการประเมินผลเมื่อเสร็จสิ้นโครงการ เป็นตัวช่วยในการทำงานของอุทยานวิทยาศาสตร์และหน่วยบ่มเพาะผู้ประกอบการ (Incubator) ลดความซับซ้อนของการคำนวณผลการประเมิน มีความถูกต้องแม่นยำ รวมถึงสามารถออกรายงานผลการประเมินในรูปแบบต่างๆ ได้
เครื่องมือที่ 1 การประเมินระดับเทคโนโลยีและศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์หรือเชิงสังคมสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (Technology Commercialization Capability Level: TCCL) นี้
โดยแบบประเมินประกอบด้วยข้อมูลการประเมิน 4 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 การประเมินระดับความพร้อมของเทคโนโลยี (Technology Readiness Level: TRL) เป็นการประเมินความพร้อมและเสถียรภาพของเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน โดยใช้เครื่องมือที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบระดับวุฒิภาวะระหว่างเทคโนโลยีที่แตกต่างกันเป็นระดับความพร้อมของเทคโนโลยีเดียวกัน
ส่วนที่ 2 การประเมินระดับศักยภาพของเทคโนโลยี (Technology Potential Level: TPL) เป็นการประเมินความสามารถของเทคโนโลยี (Technology Capability Level: TCL) และความน่าสนใจของผลิตจากเทคโนโลยี (Output Attractiveness Level: OAL) โดยใช้เกณฑ์ย่อยในการประเมิน 12 ด้าน ดังนี้
การประเมินความสามารถของเทคโนโลยี (Technology Capability Level) มีเกณฑ์การประเมิน 7 หัวข้อ ดังนี้
1) หน้าที่ในการแก้ปัญหาในโครงการของเทคโนโลยีที่นำมาใช้ (Functionality)
2) ความสามารถในการแข่งขันของเทคโนโลยี (Technology Competitiveness)
3) ความสามารถในการผลิตเชิงอุตสาหกรรม (Ability to Upscale)
4) ความปลอดภัยในการใช้เทคโลยีภาพรวม (Safety)
5) ระดับความยากในการส่งต่อให้ผู้ประกอบการในโครงการ (Delivery Capacity)
6) ความสามารถในการนำเทคโนโลยีไปใช้ของผู้ใช้เทคโนโลยี (Absorptive Capacity)
7) การยอมรับเทคโนโลยีของผู้ใช้งานสุดท้ายหรือของตลาด (Acceptability)
การประเมินความน่าสนใจของผลผลิตจากเทคโนโลยี (Output Attractiveness Level) มีเกณฑ์การประเมิน 5 หัวข้อ ดังนี้
8) นวัตกรรมของผลผลิตจากเทคโนโลยี (Innovation Output)
9) ประโยชน์ของผลผลิตจากเทคโนโลยี และผู้ใช้กลุ่มเป้าหมาย (Output Benefit & Target)
10) เทคโนโลยีสามารถผลิตผลิตภัณฑ์มีข้อได้เปรียบที่เหนือกว่าผลิตภัณฑ์อื่นในตลาด (Output Competitiveness)
11) ขนาดและมูลค่าตลาดของผลผลิตจากเทคโนโลยี (Out’s Market Size & Market Value)
12) ระเบียบ ข้อบังคับ หรือกำหมายที่เกี่ยวข้องในการนำผลผลิตของเทคโนโลยีเข้าสู่ตลาด (Output Legal & Regulatory)
ส่วนที่ 3 การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ (Project Feasibility) การประเมินความสามารถในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของเทคโนโลยีนั้นๆ โดยการประเมินศักยภาพของเทคโนโลยีจะถูกวัดออกมาในเชิงปริมาณ จากการประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจของเทคโนโลยี (Techno – Economic Assessment) ด้วยการประเมินความเป็นไปได้ของโครงการและการประมาณการมูลค่าของโครงการ จากการประมาณค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ประมาณการรายได้ตามระยะเวลาที่เกิดขึ้น และคำนวณออกมาเป็นค่า
1) ค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value)
2) อัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง (Internal Rate of Return: IRR)
3) มูลค่าผลประโยชน์ที่ได้รับสูงกว่าการลงทุนครั้งแรกกี่เท่า (Benefit/Cost Ratio)
ส่วนที่ 4 การวิเคราะห์เส้นทางสู่ผลกระทบ (Path to Impact Analysis) เส้นทางสู่ผลกระทบของงานวิจัย (Impact Pathways) เป็นการเขียนแผนผังลูกโซ่เชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการมีโครงการหรือโปรกแกรมการวิจัย ตั้งแต่เริ่มต้นการดำเนินโครงการ ไปจนถึงจุดมุ่งหมายหลักของโครงการหรือแผนที่แสดงโครงข่ายความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานวิจัยกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง และกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากโครงการ
การวิเคราะห์เส้นทางสู่ผลกระทบของโครงการและศักยภาพในการสร้างผลกระทบจากโครงการเป็นการประเมินเชิงคุณภาพ เพื่อให้เจ้าของโครงการ เจ้าหน้าที่บริหารโครงการและกรรมการประเมินความสามารถประมาณความเป็นไปได้ และช่วงเวลาที่ผลผลิตจากโครงการถูกนำไปใช้ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สามารถนำไปสู่การคำนวณมูลค่าที่เกิดจากการใช้ประโยชน์จากผลผลิต
รูปที่ 1 เครื่องมือการประเมินระดับเทคโนโลยีและประเมินความสามารถของเทคโนโลยี
เครื่องมือที่ 2 การประเมินเพื่อติดตามโครงการ มุ่งเน้นตรวจสอบกิจกรรมที่เกิดขึ้นเทียบกับแผนที่วางไว้ เพื่อที่จะมีโอกาสในการปรับปรุงแก้ไขโครงการให้เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปแต่ละช่วงเวลา
เครื่องมือที่ 3 การประเมินผลเมื่อโครงการแล้วเสร็จ มุ่งเน้นตรวจสอบโครงการโดยรายละเอียดว่าโครงการบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่ โดยใช้สถานะการณ์และข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง รวมไปถึงการพิจารณาแนวโน้มในอนาคตที่อาจเกิดขึ้น
สนใจนำเครื่องมือการประเมินระดับเทคโนโลยีและประเมินความสามารถของเทคโนโลยีในการสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์หรือสังคม สามารถติดต่อได้ที่สมาคมหน่วยบ่มเพาะผู้ประกอบการและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย
ขอขอบคุณสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช) ที่สนับสนุนทุนในการศึกษาและวิจัย